รวยผ่อนส่ง (เป็นบทความของดร.นิเวศน์ที่ตีพิมพ์ลงในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ)
ไม่เป็นการพูดที่เกินเลยว่า โลกของเศรษฐกิจการเงินทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของการผ่อนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน
อยากได้รถขับคุณก็แค่ต้องจ่ายค่าผ่อนเดือนละหมื่นบาทเศษ ๆ อยากเป็นเจ้าของบ้านผ่อนแค่เดือนละ 2-3 หมื่นบาทก็เข้าอยู่ได้แล้ว อยากดูทีวีจอใหญ่ ฟังเครื่องเสียงดี ๆ จ่ายเดือนละไม่กี่พันบาท การผ่อนส่งทำให้เราบริโภคได้มหาศาลแต่ไม่ทำให้เรารวย
ถ้าอยากจะรวยโดยที่คุณไม่ได้มีความสามารถในการทำงานสูง ไม่มีปัญญาที่จะลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว และก็ไม่ได้มีคู่ชีวิตที่ร่ำรวยหรือเป็นทายาทเจ้าของมรดก ผมคิดว่ามีวิธีที่ง่ายและทำกันได้ทุกคน นั่นก็คือ คุณต้องรวยโดยการผ่อนส่ง
หลักการก็คือ ข้อแรก คุณต้องผ่อนยาว เวลาผ่อนจะได้ไม่ต้องใช้เงินมากในแต่ละเดือน ข้อสอง คุณต้องลงทุนในตราสารการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งแน่นอนมันคือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ข้อสาม คุณต้องลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้เหลือต่ำที่สุด นั่นหมายความว่าคุณจะต้องซื้อขายหุ้นน้อยครั้ง คุณต้องจ่ายค่าบริหารหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้น้อยที่สุด ถ้าไม่ต้องจ่ายได้ก็ยิ่งดี ข้อสี่ คุณต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุนโดยการถือหุ้นหลาย ๆ ตัว ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และข้อห้า คุณควรใช้ประโยชน์จากการได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเงินได้ที่รัฐบาลมอบให้ ถ้าคำนวณแล้วเงินที่ได้รับคืนมานั้นคุ้มกับข้อจำกัดที่รัฐกำหนดมา
จากหลักการทั้งหมดนั้น ผมลองมาตั้งตุ๊กตาเพื่อให้คุณเห็นภาพว่าคุณจะต้องทำอย่างไร และคุณจะรวยเท่าไรจากการผ่อนส่งของคุณ โดยที่ถ้าคุณมีวินัยไม่ขาดผ่อน และไม่เฉไฉออกนอกลู่นอกทางเพราะไปฟังความเห็นของคนอื่น หรือมีความปริวิตกในภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น โอกาสที่คุณจะรวยตามที่ผมจะว่าต่อไปนั้น ผมคิดว่ามีสูงถึง 80-90% ขึ้นไป หรือถ้าจะรวยไม่ถึงจุดนั้น ผมก็คิดว่าคุณจะต้องรวยอยู่ดี
ระยะเวลาของการผ่อนผมตั้งไว้ 30 ปี นั่นหมายความว่า ถ้าคุณอายุ 30 ปี วันที่คุณจะรวยก็คือวันที่คุณเกษียณ เงินที่คุณต้อง ผ่อน ต่อเดือนก็คือ 10000 บาท ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นภาระเกินไป โดยเฉพาะถ้าคุณมีอายุ 30 ปี และแต่งงานช่วยผ่อนกันสองคนสามีภรรยา การผ่อนของคุณก็คือการเอาเงินไปลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 6-7 ตัวขึ้นไป โดยที่คุณจะต้องไม่ถอนออกมาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เงินผ่อนทุกงวดจะต้องอยู่ในหุ้นตลอดเวลาแม้ว่าคุณอาจจะสลับตัวหุ้นที่ลงทุน บ้าง เงินปันผลที่ได้รับมาทั้งหมดก็ต้องเอาไปลงทุนในหุ้นต่อไปห้ามเอามาใช้
ถ้าคุณศึกษาและมีความรู้ในการลงทุนเป็น Value Investor ที่ดี ซึ่งผมคิดว่าคุณน่าจะทำผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 12% ในวันที่คุณเกษียณผ่อนมาครบ 30 ปี คุณจะมีเงินประมาณ 28.9 ล้านบาท ชีวิตบั้นปลายของคุณน่าจะเป็น วัยทอง จริง ๆ
ถ้าคุณคิดว่าการเป็นนักลงทุนที่มีฝีมือเป็นเรื่องยากของคุณ แต่คุณเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทยและบริษัทบลูชิพใหญ่ ๆ ว่าจะสามารถดำรงอยู่และเติบโตไปได้เรื่อย ๆ คุณก็สามารถเลือกลงทุนใน หุ้นช้าง เหล่านั้นอย่างน้อย 6-7 ตัว เอาเฉพาะตัวที่เป็นอันดับหนึ่งของแต่ละอุตสาหกรรม ทำแบบนี้คุณน่าจะได้ผลตอบแทนปีละประมาณ 9% โดยเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้คุณมีเงินประมาณ 16.4 ล้านบาท
ถ้าคุณไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับหุ้นเลยและไม่กล้าตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นด้วยตัว เอง อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าสภาวะทางจิตใจพร้อมที่จะอยู่เฉย ๆ เวลาหุ้นตกหนัก ๆ หรือเปล่า คุณสามารถที่จะเอาเงินค่าผ่อนของคุณให้บริษัทจัดการกองทุนรวมบริหารให้ โดยการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้น ซึ่งผมคิดว่าโดยทั่วไปกองทุนรวมหุ้นน่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้ประมาณ 9% ต่อปี แต่เนื่องจากกองทุนเหล่านั้นมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียประมาณปีละ 2% ดังนั้นผลตอบแทนที่คุณจะได้จะอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อปี ซึ่งทำให้คุณมีเงินในวันเกษียณประมาณ 11.3 ล้านบาท โดยที่แทบไม่ต้องคิดอะไรเลย
คุณอาจจะสามารถเพิ่มความรวยของคุณได้อีกโดยการดูว่าคุณต้องจ่ายภาษีรายได้ ส่วนบุคคลอัตราสุดท้ายกี่ % เพราะถ้าคุณตัดสินใจจ้างกองทุนรวมบริหารหุ้นให้คุณ ส่วนเพิ่มที่ได้ก็คือภาษีที่คุณได้ลดจากรัฐบาล โดยที่คุณต้องซื้อกองทุนรวมหุ้นที่เป็น RMF หรือ LTF ซึ่งจะเพิ่มความรวยให้คุณคิดเป็น % เท่ากับผลประโยชน์ทางภาษีที่คุณได้รับ
แต่ถ้าคุณบริหารหุ้นของคุณเอง ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นโดยทั่วไป ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดเอาผลประโยชน์ทางภาษีซึ่งบังคับให้คุณต้องซื้อหน่วย ลงทุน ซึ่งในระยะยาว 30 ปีแล้ว การลงทุนเองจะทำให้คุณรวยกว่าในทุกกรณี เพราะการลงทุนเองจะทำให้คุณได้เงินอย่างน้อย 16.4 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่จะได้ 11.3 ล้านบาทถึง 45%ซึ่งมากกว่าอัตราภาษีสูงสุดที่ 37%
ถ้าคุณเคยผ่อนหรือกำลังผ่อนอะไรบางอย่างที่ให้ความสุขแก่คุณในวันนี้ ลองตัดใจผ่อนเพื่อความสุขในอนาคตอีกสักอย่าง ผมคิดว่าคงไม่เหลือบ่ากว่าแรง ที่สำคัญก็คือ ทุกครั้งที่ผ่อน มันให้ความสุข และไม่เหมือนการผ่อนค่าซื้อสินค้าเลย
ปล.การลงทุนมีความเสี่ยง แต่คนที่จะควบคุมความเสี่ยงนั้นก็คือตัวคุณเอง
No comments:
Post a Comment